การประชุมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างประกาศกระทรวงฯ จ.ชุมพร พ.ศ. ….

การประชุมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ต่อร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่ตำบลปากคลอง
ตำบลชุมโค ตำบลบางสน และตำบลสะพลี อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร พ.ศ. …. (รายตำบล)

ในระหว่างวันที่ 18 – 21 กรกฎาคม 2566
ณ อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร

สผ. โดยกองสิ่งแวดล้อมชุมชนและพื้นที่เฉพาะ (กชพ.) ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่ตำบลปากคลอง ตำบลชุมโค ตำบลบางสน และตำบลสะพลี อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร พ.ศ. …. (รายตำบล) ในระหว่างวันที่ 18 – 21 กรกฎาคม 2566 ณ อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร โดยมีนายอิศรพันธ์ กาญจนเรขา ผู้อำนวยการกองสิ่งแวดล้อมชุมชนและพื้นที่เฉพาะ เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมในพื้นที่ทั้ง 4 ตำบล รวมทั้งสิ้น 155 คน ประกอบด้วย ผู้แทนหน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และภาคประชาชน โดยในการประชุมรับฟังความคิดเห็นรายพื้นที่ทั้ง 4 ตำบล ในการนี้ นางสาวนิชนันท์ ทองเด็จ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมปฏิบัติการ นายภักดี นุ่นแก้ว เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน และนายบุณณ์เดชน์ จรุงศักดิ์เศรษฐ์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ ได้นำเสนอสถานการณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ที่กำหนดในร่างประกาศกระทรวงฯ การนำเสนอร่างประกาศกระทรวงฯ ที่มีการทบทวนปรับปรุง รวมทั้งการชี้แจงขั้นตอนทางกฎหมายในการออกประกาศ พร้อมทั้งเปิดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างประกาศกระทรวงฯ ดังกล่าว จึงขอสรุปผลการประชุมรับฟังความคิดเห็น ดังนี้

  1. ในพื้นที่มีการใช้บังคับกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องหลายฉบับแล้ว หากมีการประกาศใช้ร่างประกาศกระทรวงฯ เพิ่มเติม อาจจะทำให้เกิดความซ้ำซ้อนของการบังคับใช้กฎหมายได้ ดังนั้น หากต้องแก้ไขปัญหาในพื้นที่ควรเน้นเรื่องการส่งเสริมในการรักษาสิ่งแวดล้อมแทนที่จะออกกฎหมายมาบังคับใช้สำหรับพื้นที่นี้
  2. ทรัพยากรธรรมชาติของตำบลสะพลียังคงมีความอุดมสมบูรณ์ และยังไม่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว โดยมีการบริหารจัดการเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติจากประชาชนในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพอยู่แล้ว เช่น การปิดอ่าว ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ – 15 พฤษภาคม แล้วยังมีการขยายต่อไปถึงวันที่ 15 มิถุนายน ของทุกปี เพื่อให้สัตว์น้ำแพร่ขยายพันธุ์ การดูแลป่าชายเลนที่มีขนาดเล็กโดยครัวเรือนที่อยู่ใกล้เคียง รวมทั้งการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยใช้กฎหมายท้องถิ่นในการบริหารจัดการ จึงไม่มีความจำเป็นในการประกาศใช้กฎหมายอื่นใดเพิ่มเติม
  3. ควรมีการดำเนินงานด้านการสร้างความรู้ ความเข้าใจ รวมทั้งการสร้างศักยภาพของชุมชนในการอนุรักษ์ทรัพยากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการถอดบทเรียน จัดทำเป็นแผนงาน ยุทธศาสตร์ ในระดับชุมชน เพื่อที่จะเป็นแนวทางในการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยชุมชนเอง จึงเห็นควรให้ผู้นำท้องถิ่นซึ่งมีศักยภาพ แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่นี้ก่อน หากไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จึงนำมาพิจารณาการออกข้อบังคับอื่น ๆ ในพื้นที่นี้ต่อไป
  4. ไม่เห็นด้วยต่อการจัดทำประกาศกระทรวงฯ เนื่องจากการประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมอวจส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชาวประมง ซึ่งปัจจุบันชาวประมงได้รับผลกระทบจากกฎหมายหลายฉบับที่กำหนดในพื้นที่นี้อยู่แล้ว เช่น กฎหมายว่าด้วยการประมง กฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ เป็นต้น และมีบทลงโทษค่อนข้างสูง ชาวประมงในพื้นที่จึงมีความกังวลว่าหากมีการประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมในพื้นที่นี้อีก จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบอาชีพประมง จึงต้องการให้ชะลอการออกประกาศกระทรวงฯ ไปก่อนจนกว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการประมงแล้วเสร็จ หากจะมีการดำเนินการจัดทำประกาศกระทรวงฯ อีกครั้ง สมาคมประมงปะทิวคลองบางสน ยินดีที่จะให้ความร่วมมือในการประสานงานเพื่อจัดทำประกาศกระทรวงฯ ดังกล่าวในอนาคต
  5. หากมีการกำหนดเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ขอให้มีการตรวจสอบขอบเขตพิกัดหอยมือเสือให้ชัดเจนโดยเฉพาะแหล่งที่อนุรักษ์หอยมือเสือเท่านั้น เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการทำประมงในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ภัยคุกคามที่เกิดขึ้นต่อหอยมือเสือ มิได้เกิดจากผลกระทบจากการทำการประมง แต่มักเกิดจากภัยธรรมชาติ เนื่องจากหอยมือเสือเป็นสัตว์ที่มีความอ่อนไหว และมีข้อจำกัดในการดำรงชีวิต ทำให้ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติได้โดยง่าย
  6. ในกรณีของแหล่งหญ้าทะเลในพื้นที่ตำบลปากคลอง ซึ่งได้รับผลกระทบจากพายุทำแหล่งหญ้าทะเลในบริเวณดังกล่าวมีความเสียหาย ชุมชนจึงมีการปลูกหญ้าทะเล (หญ้าคาทะเล) เพิ่มเติม เพื่อฟื้นคืนแหล่งหญ้าทะเลสู่ธรรมชาติ และในกรณีของเนินทรายงาม ที่ปัจจุบันมีลักษณะสังคมพืชชายหาดขึ้นในบริเวณเนินทรายงามเป็นจำนวนมาก โดยท้องถิ่นไม่อนุญาตให้มีการตัดต้นไม้เพื่อบุกรุกพื้นที่หากมีความจำเป็นต้องตัดต้นไม้บริเวณดังกล่าวออก จะเลือกตัดต้นไม้ที่เป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน อาทิ ต้นกระถินณรงค์ออก โดยไม่ปลูกต้นไม้ชนิดดังกล่าวทดแทนอีก
  7. เห็นควรทบทวนการจัดทำประกาศกระทรวงฯ โดยดำเนินการจัดทำการประชาคมในระดับหมู่บ้านอีกครั้ง เพื่อให้ผลการทำประชมคมของชุมชนมีความเป็นปัจจุบัน ทั้งนี้ ผู้นำชุมชนจะอาสาเป็นผู้จัดการทำประชาคมในระดับหมู่บ้านภายในช่วงเดือนสิงหาคม 2566

กรณีการทำประชาคมทุกหมู่บ้านที่ได้เสนอจากการประชุมรับฟังความเห็น สผ.ได้ประสานปลัดอาวุโสอำเภอปะทิว (นายกิติพงค์ โสมณะ) ว่าการลงพื้นที่เพื่อทำประชาคมในแต่ละหมู่บ้านนั้น สผ. มีข้อจำกัดหลาย ๆ ด้าน อย่างไรก็ตาม สผ. จะสนับสนุนข้อมูลต่าง ๆ เพื่อประกอบการจัดทำประชาคมของชุมชน ทั้งนี้ สผ. ได้มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร เพื่อมอบให้อำเภอปะทิว แจ้งให้กำนัน และผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้าน ทั้ง 4 ตำบล รับไปดำเนินการทำประชาคมแต่ละหมู่บ้าน และแจ้งผลการทำประชาคมหรือส่งแบบสอบถามความคิดเห็น เพื่อ สผ. จะนำไปประกอบการพิจารณาและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ฐานข้อมูลภูมินิเวศภาคเหนือผ่านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (อยู่ระหว่างการพัฒนา)

แผนผังภูมินิเวศของพื้นที่ภาคเหนือ  ภูมินิเวศในภาคเหนือ ประกอบด้วย ภูมินิเวศภูเขา ภูมินิเวศลาดเนินเขาเชิงซ้อน ภูมินิเวศลาดเนินเขา ภูมินิเวศลาดตะพักน้ำ ภูมินิเวศที่ราบน้ำท่วมถึง และภูมินิเวศแหล่งน้ำ  ดาวน์โหลดไฟล์ข้อมูล ดาวน์โหลด Shapefile แผนผังภูมินิเวศเชิงกายภาพของภาคเหนือ                           Dashboard พื้นที่ภูมินิเวศภาคเหนือ 9 จังหวัด  Dashboard พื้นที่ภูมินิเวศในเขตเมืองอัจฉริยะลำปาง    ข้อเสนอแนะ/มาตรการในการใช้พื้นที่ตามภูมินิเวศ (คลิกเพื่อเข้าใช้งานในโหมดเต็มหน้าจอ)... อ่านต่อ

สผ.-GIZ ร่วมจัด KM-SPECIAL

สผ.-GIZ ร่วมจัด KM-SPECIAL “ถอดบทเรียนจากเยอรมนี : การวางแผนผังพื้นที่ด้วยแนวคิดเชิงนิเวศ” ภายใต้โครงการ Urban-Act เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 เวลา 9.30 น. ณ ห้องประชุม 1001 อาคารทิปโก้ 2  สผ. โดยกองสิ่งแวดล้อมชุมชนและพื้นที่เฉพาะ (กชพ.) ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศเยอรมัน (GIZ)... อ่านต่อ